VERTICAL STUDIO เป็นสตูดิโอการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับนักศึกษาระดับ ปี 4 ซึ่งผ่านกระบวนการการเรียนการสอนในระบบ HOUSE STUDIO มาแล้ว โดย VERTICAL STUDIO นี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสามารถในการออกแบบสถาปัตยกรรมตามความสนใจของนักศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 3 STUDIO หลัก คือ

ARCHITECTURAL PRACTISE ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้กระบวนการการทำงานแบบสำนักงานสถาปนิก และระบบการออกแบบอาคารตามระเบียบวิชาชีพ นักศึกษาจะมีความเข้าใจอย่างละเอียดใน กฎหมายการก่อสร้าง การจัดสรรที่ดิน การวางขนาดพื้นที่อาคาร การจัดการระบบอาคาร การจัดการอุปกรณ์ประกอบอาคาร อย่างเข้มข้น

SUSTAINABLE DESIGN ที่ประกอบไปด้วย โดยนักศึกษาจะได้ศึกษากระบวนการการออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม ทั้งในด้านของการใช้ทรัพยากร และพลังงาน และในด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ผ่านทางการตีความทางสถาปัตยกรรม โดยสตูดิโอนี้จะเน้นไปที่บริบทแวดล้อมของงานสถาปัตยกรรม ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างแนวความคิด และการออกแบบอาคาร

EXPERIMENTAL DESIGN เหมาะสำหรับนักศึกษาที่มุ้งเน้นการค้นคว้าระเบียบวิธีและการตีความทางสถาปัตยกรรมใหม่ การทดลองเพื่อหาคุณภาพทางที่ว่าง ที่อาจไม่เคยมีใครคิดมาก่อน หรือว่าถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบทางการออกแบบที่มีอยู่เดิมในคู่มือต่างๆ นักศึกษาจะได้พัฒนาความสนใจตัวเอง ควบคู่ไปกับการปรับใช้ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิดเป็นที่ว่าง และงานออกแบบที่น่าสนใจ

กระบวนการการทำงาน

ในกระบวนการเรียนการสอนจะเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง STUDIO DIRECTORS/ COACH และ นักศึกษา

STUDIO DIRECTORS จะทำหน้าที่เป็นผู้มอบหมายงานให้กับแต่ละ STUDIO โดยเลือกใช้โครงการจริงที่แต่ละบริษัทสถาปนิกกำลังทำงานอยู่ในขณะนั้น และไดเรคเตอร์จะเป็นผู้ควบคุมภาพรวมของโครงการ รวมถึงให้แนวคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการและแนวคิด ที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของนักศึกษา และกระบวนการการเรียนการสอนในสตูดิโอ นักศึกษาจะได้ทำงาน และนำเสนอผลงาน โดยตรงกับไดเรคเตอร์

โค้ช จะทำหน้าที่เป็นผู้ตีความโจทย์ และให้คำแนะนำ และแรงบันดาลใจที่เหมาะสมกับ โฟกัสของแต่ละสตูดิโอ และร่วมกับนักศึกษาพัฒนาแบบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ มีความสวยงาม น่าสนใจ ใช้งานได้ และตรงตามความต้องการของโครงการ โดยโค้ชจะเป็นผู้ติดตามนักศึกษาอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการนัดให้คำปรึกษาทุกๆ สัปดาห์

นักศึกษา คือผู้ที่ใช้ความรู้ความสามารถ ของตนเองรวมไปถึงการมององค์ประกอบ หรือการออกแบบต่างๆ ผ่านทางการตีความทางสถาปัตยกรรม และบริบทที่เกี่ยวข้อง สื่อสารออกมาเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ด้วยแนวคิดของคนรุ่นใหม่ไฟแรง และนำเสนอแนวทางการออกแบบใหม่ๆ ที่คนวัยทำงานอาจคาดไม่ถึงก็ได้ นักศึกษาคนใดที่มีไอเดียน่าสนใจ ไดเรคเตอร์ก็อาจจะนำไปใช้ในโครงการจริงก็ได้

โดยในปีการศึกษา 2560 นี้ เราได้รับเกียรติจากบริษัทสถาปนิกชื่อดัง 3 บริษัท ที่มีแนวทางการออกแบบที่ชัดเจน ให้เกียรติมาเป็น STUDIO DIRECTOR

แนวทางของ M SPACE: เน้นการทดลองใช้วัสดุที่สื่อถึงเรื่องราวของสถานที่ รวมถึงการพยายามถ่ายทอดการรับรู้ของที่ว่างผ่านทางภาษาสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย การสร้างการรับรู้ผ่านองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมอื่นๆ อย่าง แสง เงา และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และสถานที่

แนวทางของ GEODESIC DESIGN: เน้นกระบวนการการออกแบบอาคารแบบ TROPICAL MODERN เป็นอาคารที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งเป็นเขตร้อน

แนวทางของ บริษัทสถาปนิกสุข: เน้นกระบวนการทางสังคมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นกระบวนการทางสถาปัตยกรรม การใช้องค์ประกอบอาคารที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในบริเวณโครงการ และนำเสนออนาคตของชุมชนผ่านทางการตีความมรดกทางกายภาพ และนามธรรมที่มีอยู่เดิมในท้องที่