DESIGN STUDIOS

ชั้นปีที่ 1 (First Year)

     จุดมุ่งหมายด้านองค์ความรู้

     ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไปจนถึงลักษณะวิชาชีพร่วมสมัยในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจถึงเส้นทางความหลากหลายของกาศึกษาทางสถาปัตยกรรมที่สามารถทำได้ พร้อมกับการนำเข้าสู่ความเข้าใจพื้นฐานทางสถาปัตยกรรม แนะนำองค์ประกอบอาคารซึ่งประกอบขึ้นเป็นชิ้นงานสถาปัตยกรรม อาทิเช่น พื้นผิวที่ตั้ง ผนัง ประตู ช่องเปิด บันได ห้องหรือที่ว่างเพื่อการใช้สอย เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับการสังเกต และตั้งคำถามเพื่อนำเข้าสู่การหาคำตอบ และวิธีการออกแบบพื้นฐานด้านองค์ประกอบ

     จุดมุ่งหมายด้านทักษะปฏิบัติ

     ในการศึกษาเริ่มต้นฝึกพื้นฐานในการแสดงออกภาษาทางสถาปัตยกรรม ด้านทักษะฝีมือและมุมมองทางสายตา เทคนิคการวาดภาพและการสร้างหุ่นจำลองทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ ความสามารถในการกำหนดประเด็นปัญหาเชิงนามธรรมสู่คุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมและทักษะการสื่อสารทางสถาปัตยกรรมผ่านการนำเสนอด้วยวาจาและภาษาภาพทางสถาปัตยกรม ช่วงแรกของการปฏิบัติจะเป็นการออกแบบในพื้นที่ว่าง เพื่อสร้างประสบการณ์กับสภาพแวดล้อม โครงสร้างอาคารขนาดเล็ก ซึ่งมีความครอบคลุมถึงองค์ประกอบอาคารพื้นฐานทั้งหมดที่เรียนในชั้นปีที่ 1

 

ชั้นปีที่ 2 (Second Year)

     จุดมุ่งหมายด้านองค์ความรู้

     พัฒนาสู่องค์ความรู้ในหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรม เริ่มต้นด้วยกระบวนการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลพื้นฐานเพื่อการออกแบบ วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในอดีต วิเคราะห์สู่แนวคิดในการใช้ชีวิตอยู่อาศัยของมนุษย์และสังคม มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตลอดจนการศึกษาด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพสภาพดินฟ้าอากาศ ควบคู่ไปกับการศึกษาประเด็นปัญหาร่วมสมัยและวิธีการก่อสร้าง ผู้เรียนจะได้รับการแนะนำสู่ความรู้พื้นฐานด้านอาคารได้แก่ ที่ว่าง(Space) โครงสร้าง(Structure) วัสดุ(Material) และการก่อสร้าง(Construction)

     จุดมุ่งหมายด้านทักษะปฏิบัติ

     การปฏิบัติมุ่งความสนใจประเด็นการออกแบบอาคารเดี่ยว จินตนาการลักษณะที่อยู่อาศัยในอนาคตแสดงผ่านผลงานการออกแบบที่อยู่อาศัยขนาดเล็กในพื้นที่ชุมชนเมือง ฝึกการพัฒนากราฟฟิกและการสื่อสารทางสถาปัตยกรรม และคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม การใช้วัสดุ การใช้พลังงาน และระบบการก่อสร้างที่เป็นพื้นฐานทางสถาปัตยกรรม

ชั้นปีที่ 3 (Third Year)

     จุดมุ่งหมายด้านองค์ความรู้

    พัฒนาต่อเนื่องในหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างอาคารและระบบองค์ประกอบอาคาร การปฏิบัติคำนึงการปฏิสัมพันธ์กันของปัจจัยต่างๆ เช่น รายละเอียดโครงการและวัตถุประสงค์โครงการ การใช้สอย การวางผังบริเวณ โครงสร้างและระบบเปลือกผนังอาคาร การปิดล้อมตัวอาคาร การใช้พลังงาน และระบบการควบคุมสภาวะแวดล้อม ตลอดจนแนวความคิดทางวัฒนธรรมที่สนับสนุนการปฏิสัมพันธ์กันของประเด็นต่างๆเหล่านี้ในงานสถาปัตยกรรม

     จุดมุ่งหมายด้านทักษะปฏิบัติ

     การปฏิบัติการออกแบบอาคารสาธารณะบนที่ตั้ง(Site)และโครงการที่ซับซ้อนมากขึ้น เป็นกลุ่มอาคารสาธารณะหลายหลังและมีการใช้สอยที่ผสมผสานในเขตพื้นที่เมือง โดยพิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างสาธารณะกับอาคาร ช่องว่างระหว่างอาคาร และพื้นที่บริบทแวดล้อมใกล้เคียง ตลอดจนองค์ประกอบโครงสร้างที่เหมาะสมกับการใช้สอยอาคารที่มีการผสมผสานการใช้สอยหลายประเภทในอาคารสาธารณะ โดยคำนึงถึงผลกระทบของการออกแบบต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมืองโดยรอบที่ตั้งในอนาคต

 

ชั้นปีที่ 4 (Fourth Year)

      จุดมุ่งหมายด้านองค์ความรู้

     พัฒนาในหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรมภายใต้เงื่อนไขโครงสร้าง (Structure) และความซับซ้อนปัญหาของที่ว่าง(Space) และสัดส่วน(Proportion) วิธีการแสดงออกทางสถาปัตยกรรม อาทิ เช่น คุณค่าการแสดงออกของวัสดุ จิตรกรรมและประติมากรรม แสดงความสัมพันธ์ถึงงานสถาปัตยกรรม การประยุกค์ใช้หลักการวิเคราะห์ ปัญหางานออกแบบสถาปัตยกรรม โดยครอบคลุมเกี่ยวกับปัญหาของโปรแกรม(Program) ที่ตั้ง(Site & Location)และกฎหมาย ระเบียง ข้อบังคับต่างๆ (Law & Regulation)

     จุดมุ่งหมายด้านทักษะ

     การปฏิบัติออกแบบอาคารสาธารณะขนาดใหญ่พิเศษที่ครอบคลุม บูรณาการโดยภาพรวมกับเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมชุมชนเมือง การออกแบบอาคารร่วมสมัยที่มีประเด็นแนวคิดในการออกแบบในลักษณะเชิงลึกมากขึ้น เน้นการบูรณาการโครงสร้าง ระบบเปลือกอาคาร และระบบอุปกรณ์อาคารเข้าด้วยกันโดยภาพรวมทั้งหมดในองค์ประกอบอาคาร

 

ชั้นปีที่ 5 (Fifth Year Studio)

     จุดมุ่งหมายด้านองค์ความรู้

    นักศึกษาจะได้เรียนรู้ระเบียบวิธีการศึกษาค้นคว้าเพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาภาพรวมของชุมชนเมือง และพื้นที่การศึกษาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะด้าน สังเคราะห์ไปสู่แนวคิดการปฏิบัติ แนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการออกแบบในงานสถาปัตยกรรม โดยบูรณาการร่วมกันกับการปฏิบัติงานออกแบบตลอดปีการศึกษา

    จุดมุ่งหมายด้านทักษะปฏิบัติ

   นักศึกษาเข้าสู่การปฏิบัติงานจริงด้วยตนเอง โดยศึกษาประเด็น หัวข้อศึกษาเชิงลึก ถึงปัญหาและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของชุมชนเมืองและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอแนวคิดและผลงานทางสถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองปัญหาของชุมชนเมืองและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ภายใต้ข้อมูลพื้นฐานของเมือง อาทิ เช่น โครงสร้างประชากร และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ สิ่งแวดล้อม พื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ของเมืองที่เป็นพื้นที่ศึกษาออกแบบโครงการ