สำนักงานจำลองและหน้าร้านงาน Craft (B-Unit)
จากยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้นักศึกษามีองค์ความรู้หรือประสบการณ์ด้านแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มีความประสงค์ในการสร้างสรรค์กิจกรรมฐานเรียนรู้จากทักษะเฉพาะด้านวิชาชีพที่นักศึกษาสามารถทำได้ในขณะศึกษาอยู่ เพื่อต่อยอดการทำงานในลักษณะผู้ประกอบการและสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน โดยฐานการทำงานจะออกแบบให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีบทบาทแตกต่างกันในการบริหารจัดการงานหลายกลุ่มงาน ประกอบด้วย การรับงาน การผลิตงาน การประสานงาน การบริหารจัดการทรัพยากรการผลิต (เวลา ต้นทุน คุณภาพการผลิต) การบริหารจัดการการเงิน และการสื่อสารการตลาด
ศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม (CISR)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์ที่ภาคปฏิบัติมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ อีกทั้งการประกอบวิชาชีพและองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ยังเกี่ยวข้องกับศาสตร์แขนงอื่นๆ ในฐานะที่เป็น “ศาสตร์แห่งการจัดการพื้นที่” ตั้งแต่ระดับเมืองขนาดใหญ่ อาคาร จนถึงการจัดการพื้นที่ภายในอาคาร เพื่อให้โลกวิชาการและการปฏิบัติวิชาชีพได้เชื่อมโยงสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น ศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม (CISR) จึงมีหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการและงานวิจัยของคณะฯ
โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการออกแบบ (IDDC)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม นอกจากจะมีบทบาท ในฐานะที่เป็นสถาบันวิชาการซึ่งมีพันธกิจหลักในด้านการผลิตบัณฑิตนักวิชาชีพออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรม ภายใต้หลักสูตรด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม (Architectural Design) และการออกแบบสถาปัตยกรรมตกแต่งภายใน (Interior Design) ออกไปสู่สังคมแล้ว บทบาทการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทรัพยากรบุคคลในทางวิชาชีพ เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาวิชาชีพไปสู่สากล ตามกลไกการเปิดเสรีบริการวิชาชีพในอนาคต บทบาทการให้บริการวิชาชีพแก่สังคมโดยตรง เพื่อนำร่องกระบวนการความคิดด้านการออกแบบไปสู่ผลงานที่มีคุณค่าต่อสังคมเป็นรูปธรรม ก็จัดว่าเป็นบทบาทสำคัญภายใต้พันธกิจบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัย