ความเป็นมา

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดดำเนินการสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 โดยได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากทบวงมหาวิทยาลัย (ชื่อในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 และการรับรองหลักสูตรและสถาบันการศึกษาจากคณะกรรมการการควบคุมวิชาชีพ สถาปัตยกรรม (ก.ส.) เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541

คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรโดยเพิ่มรายวิชาทางด้านเทคโนโลยีและพลังงาน เพื่อตอบสนองนโยบายในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นสำคัญ หลักสูตรที่ปรับปรุงของคณะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดม ศึกษาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นมา คณะฯ ได้เปิดดำเนินการสอนอีก 1 หลักสูตร 1 สาขาวิชา คือ หลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบภายใน ในปัจจุบัน นอกจากทางคณะฯ จะเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีในทั้งสองสาขาแล้ว คณะฯ ยังได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการบุคลากรของ อุตสาหกรรม ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานก่อสร้าง และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารทรัพยากรอาคาร) ซึ่งทั้งสองหลักสูตรสอนโดยเหล่าคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของประเทศ ทำให้หลักสูตรทั้งสองได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและสามารถผลิตบุคลากรคุณภาพ เข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์ของคณะฯ

ผลิตบัณฑิตที่มีทักษะทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามมาตราฐานสากล มีความรอบรู้และใฝ่รู้ สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ในการประกอบวิชาชีพ

สำนึกในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมและมรดกทางสถาปัตยกรรมของชาติ อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ทำนุบำรุงศาสนาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต

ส่งเสริมการวิจัยประยุกต์และการเรียนแบบ Area Base Learning เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนจากประสบการณ์จริงในพื้นที่

ให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมโดยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างประหยัดและได้ประสิทธิภาพสูงสุด

parallax background

ปรัชญา

สถาปัตยกรรม อยู่กับการเกิดของมนุษย์ และ สิ่งมีชีวิต มาแต่อดีต การศึกษาเพื่อออกแบบสถาปัตยกรรม และ ตกแต่งภายใน คือการศึกษา “มนุษย์” ทั้งในแง่ พฤติกรรมทางสังคม จิตวิทยา ศาสนา ความเชื่อ และความต้องการพื้นฐาน จนอาจไปถึงความต้องการที่เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมไปถึง การศึกษา เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อันส่งผลต่อการสร้าง “สถาปัตยกรรม” ที่ไม่เพียงห่อหุ้มการดำรงชีพของมนุษย์ แต่ยังสะท้อนถึง อารยธรรม ของมนุษย์ในแต่ละพื้นที

SoDA+SPU อยู่กับการผลิตบัณฑิตทาง สถาปัตยกรรม มากว่า 22 ปี สร้างสถาปนิกที่ทำงานด้านสถาปัตยกรรม มากกว่า 3000 คน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงสาขาวิชาชีพอื่นๆที่ เกี่ยวข้องกับงาน “สร้างสรรค์” ที่ประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งในระดับภูมิภาค และ ระดับโลก ผลลัพธ์เหล่านี้ อธิบายถึง ความสำเร็จของการทำงานร่วมกัน ระหว่าง ผู้เรียน และ ผู้สอน เป็นอย่างดี ทั้ง วิธีการสอนและหลักสูตร ที่มีการปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ในประเด็นของ สภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นที่ โลกกำลังให้ความสำคัญอย่างเช่น สถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืน เทคโนโลยี่เพื่องานสถาปัตยกรรม โดยการปรับเปลี่ยนนี้ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับ รากเหง้า กระบวนคิดทางสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ที่ต้องทันสมัย และอยู่ร่วมกับแนวคิดอื่นๆในโลกได้

SoDA+SPU อยู่กับการสอนที่ให้ ความสำคัญกับ Architectural Design/Theory : Architectural Media : Architectural Technology โดยใช้วิธีการจัดโครงสร้างการสอน เป็น Studios ที่มีเป้าหมายในการสอนที่แตกต่างกัน ตามเนื้อหา และ ความพร้อมของผู้เรียน แยกออกได้เป็น Fundamental Studio/House Studio/Vertical Studio/Individual Study ด้วยวิธีการนี้ สร้างให้เกิด วัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ เป็นทีมเดียวกัน การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างปี เกิดความร่วมมือและเรียนรู้ร่วมกันของ ผู้เรียน ผู้สอน ที่ดีขึ้น เพราะ ทีมทั้งหมด เสมือนสำนักงานออกแบบเดียวกัน สร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ร่วมกัน

SoDA+SPU อยู่กับความเข้าใจว่า ความรู้ทางสถาปัตยกรรม เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง สังคม วัฒนธรรมประเพณี + เทคโนโลยี่ นวัตกรรมใหม่ + ความคิดสร้างสรรค์ และ ที่ลืมไม่ได้ คือ “จินตนาการ” ซึ่งเป็น แกนสำคัญของวิธีการ คิด ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด และสุดท้าย ผมเชื่อว่า ที่นี่มีสังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ทีดี ดังนั้น อนาคต “สถาปนิก” ของทุกคน เริ่มที่นี่ SOA+SPU