พี่ดุ๋ย สหรัฐ พหลยุทธ์
ศิษย์เก่าสถาปัตย์
กูรู : บ้านไม้ญี่ปุ่น
Hi…! ทุกคนนนน กับเดือนพิเศษๆ ที่ปีนี้ มี 29 วัน เดือนที่หันไปทางไหนก็เห็นแต่ความร้ากกกก เต็มไปหมด และแน่นอน วันนี้แอดมินจะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับรุ่นพี่คณะสถาปัตย์ผู้มากความสามารถ ที่ได้ไปสหกิจไกลถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นรุ่นแรก และยังมีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “บ้านไม้ญี่ปุ่น” ที่ใช้วิธีการสร้างแบบชาวญี่ปุ่น โดยมีวิทยากรจากญี่ปุ่นคอยแนะนำ ซึ่งเด็กๆ หลายคนน่าจะพอเห็นผ่านตามาแล้วบ้างตรงบริเวณข้าง True Coffee ที่เราเพิ่งทำพิธีเปิดไปเมื่อเร็วๆ นี้
พร้อมแล้วไปรู้จัก พี่ดุ๋ย สหรัฐ พหลยุทธ์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กันดีกว่า...
พี่ดุ่ย : สวัสดีครับ พี่ดุ่ย สหรัฐ นะครับ วันนี้พี่จะมาแชร์ประสบการณ์ดีๆ ที่มีโอกาสได้ไปสหกิจที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้น้องๆ ฟังกัน!
โดยปกติทางคณะจะมีการจัด workshop กับทางญี่ปุ่นเป็นประจำอยู่แล้ว ในช่วงปีการศึกษาที่ 3 พอขึ้นปี 4 นักศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นก็จะมา workshop ที่ประเทศไทย ซึ่งเราแลกเปลี่ยนกันอยู่แล้ว แต่รุ่นของพี่เองโชคดีมากๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีการเซ็น MOU ร่วมกันกับญี่ปุ่น พี่เลยมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นรุ่นแรกของคณะเลยก็ว่าได้
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำยังไงถึงได้ไปสหกิจที่ประเทศญี่ปุ่น พี่ต้องบอกก่อนเลยว่า การจะได้อะไรมาสักอย่างมันไม่ง่าย และครั้งนี้ก็เช่นกัน ทุกคนต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้โอกาสในครั้งนี้มา เราต้องส่ง Portfolio เข้า workshop บ่อยๆ และศึกษาหาข้อมูลเยอะๆ ซึ่งพี่มีความสนใจเกี่ยวกับงานไม้เป็นพิเศษ บวกกับเวลานั้น ได้มีโครงการที่ทางญี่ปุ่นจะสร้าง “บ้านไม้” เพื่อมอบให้ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม พอดี พี่จึงมีโอกาสได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ตั้งแต่เริ่มเลยครับ
“ตอนไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น พี่ได้ขึ้นไปดูการตัดไม้ เลือกไม้ แปรรูปไม้ ก่อนส่งกลับมาให้ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อนำมาสร้าง ศาลาไม้ ซึ่งทุกอย่างเป็นระบบมากๆ พอกลับมาตัวพี่เองก็จะเข้ามาช่วยดูแลและคอยให้คำแนะนำต่างๆ กับช่างของเรา Ex. วิธีการปูพื้นไม้ ที่มีการนำเทคนิคจากญี่ปุ่นมาใช้ ให้มันลงล๊อคได้โดยที่ไม่ต้องเลื่อยไม้ทิ้ง เห็นไหมเพียงแค่เปลี่ยนวิธีเล็กน้อย ทุกอย่างก็ออกมาสวยงาม”
ที่สำคัญพี่มีโอกาสได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านแกะสลัก ทำมือ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลวก ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลต้นไม้ แต่ที่สนุกสุดๆ คือการสร้าง Mock up จำลองเป็น Model โดยเขาจะให้เราเรียนรู้วิธีสร้างบ้านไม้แบบญี่ปุ่นผสานกับการสร้างบ้านไม้แบบไทย ซึ่งได้ไปดูงานจริงๆ อีกด้วย
พอกลับมาอาจารย์ก็ให้พี่เข้ามาช่วยดูงาน ศาลาไม้ และได้มีโอกาสเข้าไปให้ความรู้กับน้องๆ นักศึกษาปี 1 เพราะเขากำลังเรียนเรื่องบ้านไม้แบบมินิเฮาส์ เซฟเฮาส์ ที่เป็นบ้านหลังเล็กๆ
มันเป็นเหมือนโอกาส
ในการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้
พี่ดุ่ย : สำหรับพี่แล้ว การได้ไปสหกิจในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องราวดีๆ และโอกาสดีๆ ที่ได้ไปเห็นสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของเขา ได้เรียนรู้วิธีการสร้างบ้านไม้ ที่รองรับแผ่นดินไหว ซึ่งที่ประเทศไทยเองอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้วิธีสร้างแบบของเขาทั้งหมด แต่ก็มีเทคนิดเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากันได้ และทำให้งานออกมาสวยงาม เป็นการผสมผสานที่ลงตัว
ตัวพี่เองได้รับโอกาสมามากมาย จากทั้งตัวเองที่วิ่งตามและจากอาจารย์หลายๆ ท่าน ที่ยื่นมาให้ พี่ภูมิใจในความเป็นศรีปทุม คิดไม่ผิดที่เลือกมาเรียนที่นี่ สังคมของที่นี่ให้ความเป็นกันเอง อาจารย์ทุกท่านใส่ใจเราทุกคน สอนจนกลายเป็นพี่น้อง เราสามารถปรึกษาได้แม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว มันมากกว่าคำว่า อาจารย์ กับ ลูกศิษย์
“สำหรับน้องๆ ที่เรียนอยู่ สิ่งที่พี่อยากจะแนะนำคือ หมั่นหา workshop เข้าไปเรียนรู้ จากที่ไหนก็ได้ จะของคณะจัด หรือของที่อื่นก็ได้ หาอะไรพวกนี้มาใส่ตัวเราเยอะๆ นะครับ ถ้าเราได้ workshop มาก เราก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น และเราจะได้ทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น”
อยาก Go Inter ไปสหกิจต่างประเทศแบบพี่ดุ๋ยกันแล้วล่ะสิ ถ้าอย่างนั้นต้อง Check list ตัวเองให้พร้อม Portfolio ต้องพร้อม Workshop ต้องแน่น เพื่อพัฒนา Skill ให้พร้อมสำหรับการสหกิจ อย่าลืมนะคะว่าการสหกิจเป็นการเปิดประตูสู่โลกแห่งการทำงานของทุกคน ต้องตั้งใจเก็บเกี่ยวและเรียนรู้ให้มากที่สุด
ไปค่ะ.... ไปทำ Portfolio กันดีกว่า