บ้านดินคือ ที่พักอาศัยโดยใช้เทคนิดการก่อสร้างด้วยดินธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนผลิตทางอุตสาหกรรม ไม่ใช้สารเคมี ไม่เผา ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องเสียค่าแรง จึงมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องดาวน์ ไม่ต้องผ่อน แถมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน และสังคมที่ร่วมแรงให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอีกด้วย
บ้านดินถูกกำหนดไว้ในเนื้อหาการสอนในรายวิชาเทคโนโลยีการก่อสร้างและอุปกรณ์อาคาร 1 สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ผู้สอนเห็นว่า การเรียนในห้องบรรยายไม่ทำให้เกิดความรู้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงจัดโครงการบ้านดินขึ้นทุกปีเพื่อสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยได้รับความร่วมมือจาก มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งให้ความอนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านบ้านดิน มาช่วยสอนและสาธิตในสถานที่ก่อสร้างจริง
ผู้เชี่ยวชาญคือ อาจารย์สุรัช สะราคำ ผู้มีประสบการณ์มากว่า 17 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านบ้านดินกลุ่มแรกในประเทศไทย และเป็นผู้สอน เผยแพร่ และจัดกิจกรรมการก่อสร้างบ้านดินเพื่อสาธารณะประโยชน์ให้กับ กลุ่มผู้สนใจ กลุ่มจิตอาสา และองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ
ในปี 2559 นี้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้นำนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบภายในศิษย์เก่า และอาจารย์จำนวน 85 คนลงพื้นเพื่อช่วยก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ชุมชนต้นน้ำ หน่วยพิทักษ์ป่าหนองยาว เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากปี 2558 โดยมีกิจกรรมการสาธิต และลงมือปฏิบัติการก่อสร้างอาคารโดยเทคนิคบ้านดิน เริ่มจากการเลือกพื้นทีเตรียมดิน การนวดดิน การหล่ออิฐดินดิบ การก่อ และการฉาบ
บทสรุปของกิจกรรมบ้านดินนี้พบว่า นักศึกษามีความสนใจ และสนุกไปกับการเรียนรู้อย่างมาก ได้เข้าใจว่าบ้านดินเป็นความรู้ที่ภูมิปัญญาในอดีตของมนุษย์ ด้วยความเป็นธรรมชาติ ความเรียบง่าย สามารถปรับปรุงเปลื่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ดี มีประสิทธิภาพในการลดความร้อน มีความมั่นคงแข็งแรง ใช้เทคนิคก่อสร้างพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อน ใช้เครื่องมือประจำบ้านทั่วๆไปได้ ราคาค่าก่อสร้างต่ำ ดูดซับความชื้นได้ดี สร้างได้แม้ตั้งอยู่ในป่าเขา ดังตัวอย่างจากกิจกรรมในครั้งนี้
– ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธราดล เสาร์ชัย –